ในปัจจุบันเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำรงชีวิตของคนเรามากขึ้น จากโลกที่ดูกว้างใหญ่กลับเล็กลงไปในถนัดตา เมื่อการสื่อสารที่ไร้พรมแดนไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เสมือนว่าอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมมือ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไวรัส Covid-19 กำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นตัวเร่งที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมต้องเว้นระยะห่างทางกายภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลจึงกลายเป็นทางรอดใหม่ในการทำงานโดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร การประชุมผ่าน VDO Conference เป็นช่องทางหนึ่งที่มีมานานแล้วในสังคม แต่ไม่ค่อยแพร่หลายนักในอดีต แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ VDO Conference กลายเป็นช่องทางหลักที่หลายองค์กรหันมาให้ความสนใจและใช้เป็นช่องทางในการทำงานมากขึ้นเพื่อให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี VDO Conference จะเข้ามาช่วยให้เกิดความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น แต่ก็มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่างเนื่องจากจัดทางไกล เช่น ความพร้อมของ Speaker, ความสนใจของผู้เข้าร่วม, อินเทอร์เน็ต และความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำยังไงให้ประสบการณ์แบบ Virtual สามารถสร้างประสบการณ์และความเข้าใจที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบเดิมในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างการเรียนรู้ การเข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย และจะทำอย่างไรให้คนที่กลัวการใช้เทคโนโลยีสามารถก้าวข้ามความกลัวได้
.
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีดิจิทัลถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนในชุมชนท้องถิ่นทั้งในระดับชุมชนเมืองและชุมชนชนบท สามารถเข้าถึงได้ยาก มีอุปสรรคที่ยังปิดกั้นไม่ให้คนและธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ในการใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ #กระบวนการจัดกิจกรรมการประชุมอย่างมีส่วนร่วมตามหลักการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการจัดประชุมทางไกลผ่าน VDO Conference เพื่อปิดจุดอ่อนของช่องว่างทางเทคโนโลยีให้ชุมชนสามารถเกิดการเรียนรู้ ก้าวข้ามความกลัว และพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็น SMART COMMUNITY ได้ โดยการสร้างพื้นที่ใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพคน ติดอาวุธทางปัญญา นำไปสู่การลดช่องว่างของสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในสังคมอย่างทั่วถึง