เครื่องมือศึกษาชุมชนแบบมีส่วนร่วม

Picture of สร้างสรรค์ปัญญา

สร้างสรรค์ปัญญา

เชื่อว่าหลาย ๆ คน เมื่อต้องลงชุมชนอาจจะเคยมีคำถามกับตัวเองว่า “เราจะทำอะไร” “ชาวบ้านในชุมชนจะให้ความร่วมมือไหม” “ชุมชนต้องการอะไร” “เราจะทำอะไรได้บ้าง” “ต้องเริ่มอย่างไรดี” วันนี้ Admin มีตัวช่วยมานำเสนอ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การลงชุมชนง่าย และสนุกขึ้น..ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าเครื่องมือศึกษาชุมชนแบบมีส่วนร่วมคืออะไร ?..#เครื่องมือศึกษาชุมชนแบบมีส่วนร่วม พัฒนามาจากเครื่องมือของนักมานุษยวิทยาที่ใช้ในการศึกษาชุมชนเชิงลึก ซึ่งเครื่องมือศึกษาชุมชนเหล่านี้ นอกจากสามารถแก้โจทย์ที่ “ลงชุมชนแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไร” ได้แล้ว ยังมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานกับชุมชน “ง่าย ได้ผล และสนุก” ทำให้งานศึกษาชุมชนไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลานานเหมือนที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเราที่จะลงชุมชน มีมุมมองและมีความละเอียดอ่อนต่อมิติทางสังคมและความเป็นมนุษย์ของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยในที่นี้จะยกตัวอย่างเครื่องมือที่จำเป็นมาไว้เป็นตัวอย่างในการดำเนินงาน ดังนี้- เครื่องมือที่ 1 Time line (เส้นประวัติศาสตร์ชุมชน)- เครื่องมือที่ 2 แผนที่ชุมชน- เครื่องมือที่ 3 ปฏิทินชุมชน- เครื่องมือที่ 4 ทุนชุมชน

#เครื่องมือที่_1 Time Line (เส้นทางประวัติศาสตร์ชุมชน)
Time line เป็นเครื่องมือในการชักชวนแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน โดยย้อนกลับไปให้ได้มากที่สุด (มากแค่พอที่คนในวงคุยจะย้อนได้) เพื่อสำรวจดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน ในทุก ๆ ด้าน และสามารถให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทบทวนความเป็นมาของเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และทบทวนประสบการณ์การปรับตัวของชุมชนแต่ละยุคสมัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนแล้วยังช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นชุมชน การเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์จะทำให้ทั้งชาวบ้านและผู้ที่ใช้เครื่องมือนี้ มองเห็นว่า อะไรเป็นสาระสำคัญที่ควรใส่ใจ อะไรเป็นทุนของชุมชนที่สามารถนำมาใช้ในปัจจุบัน อะไรเป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ การที่ต้องใช้เส้นทางประวัติศาสตร์ชุมชนในการพูดคุยเพราะเป็นการกำกับประเด็นของการพูดคุยให้อยู่ในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งคำถามสำคัญในการศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1) อะไรคือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น 2) เหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนอย่างไร 3) ชุมชนมีการปรับตัวอย่างไร

#เครื่องมือที่_2 แผนที่รอบในและรอบนอก
แผนที่รอบใน และแผนที่รอบนอก เป็นแผนที่พื้นฐาน ที่ง่ายแก่การจัดทำร่วมกับชุมชน เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความคุ้นเคยกับคนในชุมชน เพราะในกระบวนการจัดทำนั้น จะต้องพูดคุยสื่อสารกับคนในชุมชนเป็นหลัก ผ่านการเดินดูสถานที่ต่าง ๆ ร่วมกัน จึงสามารถเข้าถึงบ้านที่เราสนใจได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน เพราะจะเป็นผู้ลงมือทำแผนที่ด้วยตนเองโดยมี “เรา” เป็นกองเชียร์ คอยตั้งคำถาม คอยแนะนำการทำแผนที่ และที่สำคัญคือข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาทำแผนที่นั้น ชุมชนจะรู้มากกว่าเรา (ชุมชนเท่านั้นที่รู้ เราไม่รู้เลย) ชุมชนจะรู้สึกว่าเขาก็มีความรู้เหมือนกัน คนนอกอย่างเราช่างไม่รู้อะไรเลยทำให้เกิดความมั่นใจในการนำเสนอเรื่องราวอื่น ๆ ของตน ประเด็นข้อมูลที่จะนำมาลงในแผนที่ จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง ก็แล้วแต่เราจะกำหนด ในแผนที่รอบในส่วนใหญ่จะเป็น ที่ตั้งบ้านเรือน วัด โบสถ์ โรงเรียน สถานือนามัย ประปาของหมู่บ้าน สุสาน สถานที่ประกอบพิธีกรรม เป็นตัน
แผนที่รอบนอก จะเป็น แม่น้ำ ลำธาร ป่าไม้ การปลูกพืช เป็นตัน

#เครื่องมือที่_3 การทำปฏิทินชุมชน
ปฏิทินชุมชนใช้เป็นเครื่องมือระดมข้อมูลเพื่อวางแผนการผลิตหรือวางแผนการทำงานในแต่ละช่วงเวลา เช่น การผลิต พืชอาหารจากป่า พืชอาหารจากน้ำ ประเพณีในชุมชน เป็นต้น โดยรูปแบบของปฏิทินมีทั้งแบบตารางปฏิทิน และแบบวงกลม

#เครื่องมือที่_4 ทุนชุมชน
ทุนชุมชนเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจชุมชนในช่วงของการสร้างความสัมพันธ์และการทำความเข้าใจระบบโครงสร้างของชุมชน โดยได้ยึดตามหลักแนวคิดทุนชุมชนของปิแอร์บูดิเยอร์ ซึ่งแบ่งทุนออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ทุนเศรษฐกิจ Economic Capital คือ ทรัพย์สินที่สะสมเอาไว้ เงินทอง สิ่งของที่มีราคา เช่น ที่ดิน อาคารบ้านเรือน เครื่องเพชร รถยนต์ หุ้น เป็นต้น รูปแบบของทุนประเภทนี้จะดำเนินงานอยู่ใน Field เศรษฐกิจ ที่สามารถโยกย้ายไป Field อื่น ๆ ได้ ทุนประเภทนี้เป็นรูปแบบของทุนที่มีเหตุผล สามารถคิดคำนวณเป็นปริมาณที่แน่นอนได้ สามารถระบุรูปแบบได้อย่างตายตัว (Michael Haralambos, Martin Holborn and Robin Heald, 2004: 65-66)
2. ทุนวัฒนธรรม บูร์ดิเยอแบ่งแยกย่อยทุนวัฒนธรรมเป็นสามรูปแบบ คือ
– Objectified form ได้แก่ ทุนวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบของวัตถุ เช่น หนังสือ รูปภาพ ซีดี ที่ปัจเจกบุคคลครอบครอง
– Institutionalized form คือ ทุนวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบของสถาบัน เช่น คุณภาพ ชื่อเสียงของสถาบัน เป็นต้น
– Embodied form ได้แก่ สมรรถนะด้านวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคล เช่น วัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย บุคลิกลักษณะของคนในพื้นที่ ซึ่งมีระบบการศึกษาเพื่อสืบทอดต่อกัน
3. ทุนสัญลักษณ์ Symbolic Capital บูร์ดิเยอ หมายถึง สถานภาพ / ชื่อเสียง / การได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่น ๆ ทำให้เจ้าของทุนเกิดความได้เปรียบ และเกิดเป็นผลประโยชน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังหมายถึงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ลักษณะที่มีความเฉพาะที่ด้วย
4. ทุนสังคม Social Capital มีสองความหมาย แต่ทั้งสองต่างก็มีความหมายถึงเครือข่ายทางสังคม Network ทั้งสิ้น ความหมายแรก เป็นการมองจากตัวโครงสร้างที่มองเครือข่ายจริง เช่น โครงสร้างของกลุ่มเพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมอาชีพ ความหมายที่สองมุมมองจากปัจเจก เช่น เป็นคนมีเส้นสาย เป็นคนกว้างขวาง จะทำอะไรก็ง่ายสะดวกนี่คือ ทุนสังคม ตลอดจนกลุ่มกองทุนฯ ต่าง ๆ ในชุมชนที่หลากหลายเชื่อมโยงสัมพันธ์กันภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ในหลายบทบาทและหลากหลายกลุ่ม ซึ่งช่วยให้เกิดเครือข่ายทางสังคมที่โยงใยสัมพันธ์และช่วยเหลือกันอยู่ตลอดในทุก ๆ กิจกรรม

นอกจากนี้ยังมีทุนอีกหนึ่งด้านที่ บริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด ได้นำแนวคิดของ รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ ในเรื่องของทุนชุมชน ซึ่งได้เพิ่มเติมแนวคิดเรื่องทุนชุมชน ต่อจากปิแอร์บูดิเยอร์อีก 1 ด้าน เป็นทุนด้านที่ 5 ได้แก่
5. ทุนประสบการณ์ ที่เป็นทุนสำคัญในชุมชน ในการบอกเล่าประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ หรือประสบการณ์ที่ล้มเหลวจากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาของชุมชนเอง เพื่อดูว่าประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเคยผ่านการแก้ไขด้วยวิธีการใดหรือไม่ ทั้งสำเร็จหรือล้มเหลว เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป

#ดังนั้น การนำแนวคิดทุนชุมชนเข้ามาใช้ในการชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในระยะเริ่มต้นจึงเป็นการชวนให้ทีมเราออกแบบกระบวนการที่จะลงศึกษาชุมชนให้ครอบคลุมในทุกมิติของชุมชน โดยเป็นการมองทั้งทุน (สิ่งที่ดี) และมองทุกข์ (ปัญหาที่เกิดขึ้น) ที่นำไปสู่การทำความเข้าใจชุมชนบนข้อมูลที่รอบด้าน

Related Content

สาระทั่วไป
สร้างสรรค์ปัญญา

สอจร. News.

การพัฒนาศักยภาพทีมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอำเภอเสี่ยงภัยทางถนนในรถจักรยานยนต์ ครั้งที่ 1