เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมทีมวิทยากรกระบวนการถึงใช้เวลาค่อนข้างมากกับการพูดคุยกันภายในทีมทั้งก่อนและหลังการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพราะนี่ คือ ท่าบังคับ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมทั้งหมด โดย 3 ขั้นตอนนี้ ประกอบด้วย
(1) ขั้นเตรียมการ (Pre-production)
เป็นช่วงในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของทีม เป็นช่วงที่ทำให้ทีมเกิดความเข้าใจตรงกันทั้งจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น การกำหนดเป้าหมาย/ผลลัพธ์ที่อยากเห็น การเลือกแนวคิดทฤษฎี ตลอดจนเครื่องมือที่จะนำมาใช้ เพื่อวางแผนกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่อยากให้กลุ่มเป้าหมายไปถึง เป็นช่วงของการกำหนดหางเสือเรือให้มีทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญ ทำให้เห็นบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ทีมจะเข้ามาหนุนเสริมกัน เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการทำงานแบบมีส่วนร่วม
(2) ขั้นการดำเนินการ (Production)
เป็นขั้นในการลงมือปฏิบัติการตามแผนและแนวทางที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งในระหว่างดำเนินกิจกรรมอาจมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการทำความเข้าใจกับทีมให้เห็นเบื้องหลังและสาเหตุของการปรับเปลี่ยนแผนร่วมกัน ดังนั้น ในทีมจึงต้องมีการแบ่งบทบาททั้ง วิทยากรหลัก วิทยากรรอง ทีมจัดการ และผู้ประเมินสถานการณ์ ซึ่งต้องเข้าใจกันอย่างมาก
(3) ขั้นหลังการดำเนินงาน (Post-production)
คือ ขั้นตอนการจัดประเมินผลการดำเนินงาน จะเน้นไปที่การให้แต่ละคนประเมินตนเองผ่านการสรุปบทเรียน (AAR) ร่วมกัน / การประเมินผลลัพธ์ / การสะท้อนบทเรียนสิ่งที่ทำได้ดี และสิ่งที่ควรจะทำให้ดีขึ้น รวมไปถึงการถอดบทเรียนที่เป็นความรู้สำคัญที่เกิดขึ้นในการทำกิจกรรม
ซึ่งทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ต่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน และเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมทีมวิทยากรกระบวนการ จึงไม่ทำงานคนเดียว และทำไมต้องพูดคุยกันบ่อยครั้ง เพราะ 1 เวที ของการฝึกอบรม มันเต็มไปด้วยเป้าหมาย ความคาดหวัง ที่กลุ่มเป้าหมายอยากได้รับจากการเสียเวลามาอยู่กับเราตลอดทั้งระยะเวลาในการฝึกอบรม
ครั้งหน้าเราจะมาพูดคุยกันแบบลงลึกว่า ขั้นเตรียมการ (Pre-production) นี้เราต้องทำอะไรกันบ้าง จนออกมาเป็น “กระบวนการ” ในการฝึกอบรมแต่ละครั้ง
สมาชิก สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่นี่